อ่าวปัตตานีไม่ปราณีกันเลย

การพายเรือในอ่าวปัตตานีอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับคนภาคอื่นที่ไม่ได้มีเพื่อนหรือรู้จักคนในพื้นที่เป็นพิเศษ เนื่องจากการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่คลาดเคลื่อน เลือนลาง

 

 

เมื่อเรารู้ข่าวว่าจะมีการจัดพายเรือทางไกล (River Audax Thailand) ระยะทาง 40 กิโลเมตร ขึ้นที่ปัตตานี เราจึงไม่รอช้าที่จะนัดแนะกับพี่น้อง เพื่อนฝูง ตั้งใจที่จะไปเที่ยวชมบ้านเมือง ผู้คน วัฒนธรรม ธรรมชาติของเมืองปัตตานีเป็นหลัก ส่วนการพายเรือทางไกลที่จะต้องพายให้จบ 40 กม. ในกรอบเวลา 8 ชั่วโมงนั้นเราตกลงกันว่าจะเป็นการพายเรือเที่ยวชมชุมชนและธรรมชาติข้างทางแบบไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อนมากกว่า ถ้าทันก็ดี ไม่ทันก็ดีเพราะจะได้เป็นข้ออ้างให้เราได้กลับมาพายอีกครั้งในปีต่อๆ ไป

 

 

เราออกเดินทางไปถึงปัตตานี 2 วันก่อนหน้าวันที่จะต้องพายเรือและได้พบกับอาจารย์อาร์ม ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้จัดงานพายเรือ Audax ปัตตานีในครั้งนี้ อ.อาร์ม เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการให้ความรู้และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดปัตตานีโดยเฉพาะในเรื่องขยะจากทะเล โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “ทะเลจร (Tlejourn)” ร้องเท้าที่ได้วัสดุจากการนำขยะทะเลมารีไซเคิล

 

 

อ.อาร์ม พาเราไปกินอาหารท้องถิ่น อร่อยๆ หลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นข้าวบริยานี โรตีทั้งคาว หวาน รวมถึงพาเราไปพบกับคุณเอ็ม เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา นักออกแบบผู้ทำงานออกแบบและศิลปะจากดิน หลังจากที่เคยไปศึกษาไกลถึงฝรั่งเศส เคยทำงานในกรุงเทพ สุดท้ายคุณเอ็มเลือกที่จะกลับบ้าน นำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ผูกพันกับธรรมชาติมาสร้างพื้นที่ในการทำงานและพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำกิจกรรมกับเด็กๆ และผู้คนในชุมชน ด้วยแนวความคิด “มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน” เพื่อปลูกฝั่งให้เห็นถึงคุณค่าและความรู้สึกผูกพันกับสิ่งต่างในชุมชน บ้านเกิด ในวันที่กระแสเศรษฐกิจได้พัดพาให้หลายคนต้องพลัดถิ่นไปอยู่อาศัยในเมืองที่เหมือนจะมีโอกาสมากกว่า และใช้งานออกแบบเป็นตัวช่วยในการสื่อสารกับผู้คนนอกพื้นที่ถึงความสวยงาม ความสงบของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่หลายคนยังไม่เข้าใจ

 

 

 

หลังจากได้เดินเล่นชมเมืองชมตลาดจนเลยไปถึงยะลา ได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ ที่น่าสนใจ จนแทบจะลืมไปแล้วว่าเราจะมาพายเรือ 40 กม. ซึ่งปกติจะต้องวางแผนการพาย การกิน การศึกษาเส้นทาง สภาพอากาศให้เรียบร้อย แต่เมื่อเราเข้าสู่โหมดการท่องเที่ยว ประกอบกับการรับรู้ว่าอ่าวปัตตานีที่จะพายนั้นเป็นอ่าวที่ค่อนข้างปิดและตื้น ความชะล่าใจจึงเกิดขึ้น

 

 

กำหนดการปล่อยตัวเจ็ดโมงเช้าในแม่น้ำปัตตานี ใกล้กับศาลหลักเมือง มีนักพายทั้งคายัค sub เสิร์ฟสกี จำนวน 17 ลำ ทยอยออกตัวกันไป กลุ่มเราที่ประกอบด้วยเรือ Rockpool 4 ลำและ surfski 1 ลำยังคงโอ้เอ้ออกตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายและปล่อยลอยตามกระแสน้ำลงไปเรื่อยๆ แวะถ่ายรูปชุมชนประมงพื้นบ้านสองข้างทางอย่างสบายใจ

 

 

 

จนใกล้จะถึงปากแม่น้ำก็เริ่มรับรู้สึกถึงกระแสลมที่พัดเข้ามาและเริ่มเป็นละอองฝนเมื่อเรามาถึงปากแม่น้ำ เรารอรวมกลุ่มกันที่ปากแม่น้ำก่อนจะต้องพายข้ามปากอ่าวไปยังจุดเช็คพอยท์ 1 ที่ปลายแหลมฝั่งตรงข้ามไม่ไกลจากปากแม่น้ำมากนัก แต่สิ่งที่คั่นอยู่ระหว่างเรากับจุดหมายนั้นคือทะเลที่ปั่นป่วนจากลมหัวฝนที่พัดเข้ามาสวนทางกับกระแสน้ำลงทำให้เกิดคลื่นระดับ 2 เมตร ขาวโพลนไปหมด จากที่คิดว่าจะพายชมวิวสบายๆ ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นซะแล้ว ระหว่างที่พายฝ่าคลื่นไปนั้น มีเรือโดนคลื่นซัดพลิกคว่ำหรือซัดให้ไม่สามารถไปยังตำแหน่งจุดหมายได้อยู่หลายลำ แต่เรือ Rockpool Taran ของเราทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยรูปทรงหัวเรือแบบ plumb bow พาเราตัดคลื่นไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้ในใจจะหวั่นๆ อยู่บ้าง

 

 

 

หลังจากจุดเช็คพอยท์ 1 คลื่นลมที่ดูบ้าคลั่งซัดเข้าด้านข้างเรือในตอนแรกกลับกลายเป็นตัวช่วยทำเวลาที่ดีเมื่อเราเปลี่ยนทิศทางการพายเป็นพายตามลม (downwind) เพื่อไปยังจุดเช็คพอยท์ 2 ซึ่งเป็นสวรรค์ของนักพายที่ชอบเซิร์ฟคลื่น และ Rockpool Taran ก็ถูกออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้เช่นกัน เรือเกาะไปกับคลื่นได้อย่างง่ายดาย ทำความเร็วได้เป็นอย่างดี

 

แต่… รักจะขับรถแรง ก็ต้องมีทักษะที่ดี เรือก็เช่นกัน Rockpool เปรียบเสมือนรถสปอร์ตที่ยิ่งเร่งก็ยิ่งแรง ขณะที่กำลังเซิร์ฟคลื่นอย่างสนุกสนาน เกาะคลื่นมาด้วยความรวดเร็ว Rockpool หนึ่งลำก็พลิกคว่ำไปที่ความเร็วเกือบ 20 กม. / ชม. ในขณะที่คลื่นลมก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างเป็นธรรมชาติ ที่คลื่นลูกใหม่จะเข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่าอยู่ตลอดเวลา

 

 

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าทักษะการพายเรือนั้นคือทักษะการทำ self rescue และการกู้ภัย ในกรณีนี้มีหลายขั้นตอนที่ผิดพลาดจากความชะล่าใจที่ไม่ได้หมั่นฝึกซ้อมทักษะต่างๆ ให้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ เริ่มจากเมื่อเรือพลิกคว่ำไม่สามารถทำ roll ให้เรือพลิกกลับขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่โดยปกติ Rockpool ถือเป็นเรือที่ทำ eskimo roll ได้ง่ายมาก และหลังจากทำ wet exit ออกมาแล้วด้วยคลื่นที่ซัดมาอย่างต่อเนื่องก็เกิดข้อผิดพลาดที่อันตรายมากขึ้นไปอีกนั้นคือการทำเรือหลุดมือ ในสถานการณ์คลื่นลมที่ลมพัดสวนทางกับกระแสน้ำ เรือจะถูกลมพัดให้ห่างออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่คลื่นดึงผู้พายให้อยู่กับที่ หมดสิทธิ์ที่จะว่ายไปหาเรือได้อีก

 

 

 

ครั้งนี้ถือว่าโชคดีมากที่เราพายกันไปเป็นกลุ่ม มีเพื่อนหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ แต่ด้วยคลื่นลมแบบนั้นการจะบังคับเรือหันกลับมาช่วยเหลือก็ทำได้ไม่ง่ายนัก รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการช่วยเหลือก็ไม่อยู่ในจุดที่พร้อมใช้งาน แต่หลังจากผ่านไปซักพักก็มีเพื่อนที่พายกลับเข้ามาจนถึงตัว ในขณะที่กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็มีเรือของทีมจัดงานที่ตามมาเห็นเหตุการณ์เข้ามาช่วยเหลือให้กลับไปขึ้นเรือและพายต่อได้อีกครั้งแต่ก็ถือว่าทุลักทุเลพอสมควร นี่เป็นแค่การพายอยู่ในอ่าวที่มีคลื่นลมแรงประมาณหนึ่ง ถ้าครั้งนี้เป็นการพายในทะเลเปิดหรือไม่มีใครเห็น อย่างดีก็อาจจะต้องลอยคออยู่นานหน่อย อย่างเลวร้ายก็อาจจะไม่เห็นใครและไม่มีใครเห็นอีกเลยตลอดไป

 

 

 

หลังจากเราออกพายกันต่อจนพ้นเขตที่มีคลื่นลมแรง คิดว่าคงจะได้พายสบายๆ ไปเรื่อยๆ ชมป่าชายเลนที่สวยงาม แต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคใหม่ นั่นคือสันดอนทรายและเลน ระดับน้ำที่ตื้นมากทำให้ไม่สามารถลงไม้พายได้เต็มที่ และบางช่วงยังต้องลงจากเรือลุยเลนล้มลุกคุกคลานกว่าจะผ่านไปได้ ก่อนจะได้พายผ่านชุมชนบางปู ป่าชายเลนที่สวยงามและพายเลียบชายฝั่งอีกด้านมาจนถึงเช็คพอยท์สุดท้าย หยุดพักกินข้าวที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ให้  ถ่ายรูปกับสะพานไม้บานาจุดท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่มีชื่อเสียงของชุมชนบานา ก่อนจะพายเลาะชายฝั่งกลับเข้าสู่แม่น้ำปัตตานีถึงจุด finish ในที่สุด รวมระยะทาง 45 กม.

 

 

 

 

เย็นวันนั้นที่ร้านอาหารเราได้พูดคุยกันถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความประมาทในการเตรียมตัว การเช็คอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนเดินทาง การเตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลือ รวมถึงการเตรียมเสบียงอาหาร จากที่คิดว่าจะพายสบายๆ กลายเป็นทำให้เราได้บทเรียนที่มีค่าเพื่อนำไปพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น 

 

 

 

ปัตตานี ยะลาที่เราได้สัมผัสนั้นน่ารัก สวยงาม ผู้คนยิ้มแย้มทักทายอย่างเป็นมิตร แล้วพบกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปัตตานี อ่าวปัตตานี หรืออาจจะเป็นแม่น้ำสายบุรี!!