เจ้าป่าแอฟริกา : บอกเล่าบรรยากาศของการนั่งชมสิงโตกำลังกัดกินเหยื่ออยู่ตรงหน้า

ก่อนฟ้ามืดเล็กน้อย เราออกจากแคมป์ที่มีกองไฟอุ่นไปขึ้นรถซาฟารีแบบเปิดโล่ง เพื่อไปยังชายแดนของเขตมนุษย์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของการเที่ยวแบบซาฟารี บริเวณที่เป็นพื้นที่ของมนุษย์จะถูกจำกัดบริเวณ และมีรั้วล้อมไว้ อาคารที่เป็นปลายทางของคืนนี้สร้างอยู่บนเส้นชายขอบอาณาเขตแดน ฟ้ามืดสนิทแล้วตอนที่เราไปถึงจุดหมาย

 

 

อาคารชั้นเดียวหลังคาโค้งต่ำคล้ายหลุมหลบภัย สองข้างตัวอาคารเป็นรั้วแน่นหนา ต่อยาวหายไปในความมืด ผนังอาคารทีบ ด้านในเป็นโพรงถ้ำเพดานโค้งต่ำ ปิดทึบทุกทิศทางไม่มีช่องเปิดใดๆ ทางเดินเข้าจากประตูแยกออกซ้ายขวาตรงปลายสุด เมื่อเดินเลี้ยวไปตามทางก็พบม้านั่งยาว 2 แถวซ้อนกัน วางเรียงตามความโค้งของตัวอาคาร ถ้าหากดูจากมุมสูงจะเห็นเป็นรูปทรงโค้งคล้ายอัฒจันทร์ดูกีฬา แต่มีที่นั่งแค่เพียงชั้นเดียว ด้านที่คนนั่งหันหน้าเข้าไปมีช่องเปิดสูงประมาณ 1 ศอก ติดลูกกรงเหล็กห่างๆ ช่องเปิดนี้วิ่งยาวตลอดตัวอาคาร เป็นช่องเปิดเดียวของสิ่งก่อสร้างนี้ถ้าหากไม่นับประตูทางเข้า

 

 

ด้านนอกเมื่อมองทะลุออกไปเห็นซากยีราฟสดผูกติดไว้กับเสาเหล็ก ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางพอดี

 

บรรดานักท่องเที่ยวเดินจับจองที่นั่งตามใจชอบ สำหรับเราที่ต้องการถ่ายภาพ จึงเลือกหาจุดว่างของม้านั่งด้านหน้า นั่งอยู่ซักพักไฟในตัวอาคารก็ดับลงจนมืดสนิท มีเพียงแสงเรืองอ่อนๆ จากสปอตไลท์แค่ดวงเดียวที่ติดอยู่เหนืออาคาร ฉายลงไปที่เสาเหล็กด้านหน้า

 

เสียงสิงโตแห่งแอฟริกาคำรามดังอยู่ไม่ไกล ในขณะที่เรากำลังเพ่งสายตาให้คุ้นเคยกับความมืด สิงโตตัวเมียขนาดใหญ่ก็โผล่ออกมาทางซ้าย และหยุดยืนตรงหน้าเราในระยะที่เอื้อมมือถึง มีเพียงแห่งลูกกรงห่างๆ และกำแพงหนากั้นเอาไว้ ทำเอาใจเต้นเร็วขึ้นถึงแม้จะนั่งอยู่ในบังเกอร์ที่แน่นหนา และปลอดภัยก็ตาม

 

ไม่นานนักก็เริ่มมีสิงโตทยอยกันเดินออกมา ตัวเมีย 3 ตัว ตัวผู้วัยรุ่น 1 ตัว และตัวผู้เต็มวัยอีก 1 ตัว ทั้งหมดรุมเข้าไปตรงซากยีราฟ

 

 

ในสังคมของสิงโตมีการไล่ลำดับชั้น สิงโตตัวผู้หรือจ่าฝูงถือเป็นจุดยอดสุดของปิรามิดนั้น ซึ่งการกินอาหารในคืนนั้นก็เห็นได้ชัดว่าพวกมันมีสิทธิเลือกชิ้นส่วนที่จะกินก่อน หรือถ้ามันจะเปลี่ยนใจและแย่งชิ้นที่ตัวเมียอีกตัวกำลังแทะอยู่ ตัวผู้ก็จะเป็นผู้ชนะในการแย่งชิงนั้นได้อย่างง่ายดาย

 

การทิ้งซากให้สิงโตมากินนี้ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ของเอกชนแห่งแรกของประเทศนามิเบีย พื้นที่อนุรักษ์ Mout Etjo นี้มีขนาด 360 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่าครึ่งนึงของขนาดเกาะภูเก็ต ที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ล่าสัตว์อย่างถูกกฏหมาย เจ้าของพื้นที่เคยเป็นหนึ่งในพรานนักล่าชื่อดังเสียด้วยซ้ำ แต่เปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ลี้ภัยสำหรับสัตว์ป่า และเปิดให้ใช้พื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนสนใจและรักสัตว์ป่ามากขึ้น

 

 

ทุกวันนี้พื้นที่ที่สิงโตจะเดินได้อย่างอิสระนั้นมีเหลืออยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะโดนกั้นด้วยพื้นที่ของมนุษย์ซึ่งขยายกินอาณาเขตธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ถึงแม้การอนุรักษ์จะลดการล่าจากเกมกีฬาลงไปได้มากแล้ว แต่จำนวนของพวกมันก็ไม่สามารถเพิ่มมากเกินปริมาณที่พื้นที่อนุรักษ์จะรับได้

 

เสียงเคี้ยว กัดกระดูกอ่อน พร้อมคำรามของสิงโตดังอยู่ตลอดชั่วโมงเต็มของการนั่งดู เสียงที่ได้ยินกับหูของเราเองทำให้รับรู้ความแข็งแกร่งของเจ้าป่าแห่งแอฟริกา ซึ่งไม่มีสารคดีชิ้นไหนเลยที่จะบรรยายความรู้สึกได้เหมือนกับการไปนั่งดูอยู่ตรงนั้นด้วยตัวเอง

 

 

แสงไฟจากหน้าจอโทรศัพท์คนข้างๆ เรืองขึ้นมา ในวันที่การท่องเที่ยว กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของทุกแห่งในโลก การจุดประกายความประทับใจในตัวสัตว์ป่าด้วยการท่องเที่ยวแบบที่ไม่ทำลายพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมัน น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะความประทับใจเป็นเหมือนประกายไฟเล็กๆ ที่ถ้าหากจุดติดแล้วอาจจะสร้างให้เกิดกองไฟที่ใหญ่ขึ้นได้

 

 

สิงโตเริ่มแยกย้ายหลังจากเนื้อสดชิ้นใหญ่เริ่มหมดลง บางตัวยังอ้อยอิ่งนั่งแทะกระดูกเล่นไปเรื่อยๆ ซากที่เอามาให้สิงโตกินนั้นมีปริมาณไม่มากพอให้พวกมันอิ่ม มีคำถามเกิดขึ้นในหัวมากมายระหว่างที่เรานั่งดูพวกมันในความมืด คำถามส่วนใหญ่หาคำตอบได้ไม่ยากจากอินเตอร์เน็ตและการซักถามคนพื้นถิ่น แต่คำถามที่ตอบยากที่สุดคือ อนาคตของพวกมันจะเป็นอย่างไรในวันที่ขอบเขตของเมืองมนุษย์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกที

 

----------------

กิจกรรมให้อาหารสิงโตจัดโดยเขตอนุรักษ์เอกชน Mount Etjo (https://www.mount-etjo.com/ ) ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์เอกชนแห่งแรกของประเทศนามิเบีย ครอบคลุมพื้นที่ 360 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่กว้างนี้มีแบ่งส่วนเล็กส่วนหนึ่งเป็นที่พักแบบรีสอร์ท ร้านอาหาร และส่วนบริการนักท่องเที่ยว

 

นักท่องเที่ยวสามารถจองห้องพักของพื้นที่เองและเลือกทำกิจกรรมอย่างการนั่งรถซาฟารีเพื่อตามดูสัตว์ป่าในพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมัน หรือจะเลือกตั้งแคมป์ที่พื้นที่ด้านนอกแล้วเข้ามาใช้บริการรถซาฟารีและกิจกรรมอื่นๆ ของ mount Etjo ก็ได้เช่นกัน

 

การท่องเที่ยวซาฟารีในนามิเบียมีกฏห้ามลงจากรถนอกจากในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและสัตว์ป่า

 

เรื่องและภาพโดย: ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพสารคดีธรรมชาติมือรางวัลระดับเอเชีย และนักเดินทางท่องโลกที่ชอบจดบันทึกและเล่าเรื่อง ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับโลกใต้น้ำแต่ก็ชอบชีวิตกลางแจ้งบนบกไม่น้อยไปกว่ากัน

 

 

เรื่องและภาพโดย: ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพสารคดีธรรมชาติมือรางวัลระดับเอเชีย และนักเดินทางท่องโลกที่ชอบจดบันทึกและเล่าเรื่อง ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับโลกใต้น้ำแต่ก็ชอบชีวิตกลางแจ้งบนบกไม่น้อยไปกว่ากัน